12.9.57

ปรับสมดุลร่างกาย รับประทานผักผลไม้ที่เหมาะสม


 




         การรักษาสุขภาพด้วยวิธีประหยัด เรียบง่ายและได้ผลดี โดยการรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับสภาวะของร่างกาย โดยปกติร่างกายคนเราเมื่ออยู่ในภาวะสมดุลจะเกิดความสบาย แข็งแรงและมีกำลังในการทำงาน
 
         แต่หากร่างกายขาดภาวะสมดุลจะก่อให้เกิดอาการไม่สบายต่างๆ ภาวะขาดสมดุลของร่างกายแบ่งเป็นสองภาวะใหญ่ๆ คือ ร้อนเกินหรือเย็นเกิน อาการของภาวะร่างกายขาดสมดุลแบบร้อนเกิน เช่น ปวดหัว ออกร้อนตามร่างกาย ผิวหนังมีผื่นปื้นแดงคัน ตาและปากแห้ง มักเป็นร้อนในในช่องปาก เส้นเลือดขอด สิว ฝ้า กระ ผมหงอกก่อนวัย ปัสสาวะน้อยและมีสีเข้ม ท้องผูก อุจจาระเป็นก้อนแข็ง เป็นต้น  ส่วนผู้ที่มีภาวะขาดสมดุลแบบเย็นเกินมักมีอาการตัวเย็น หน้าซีด มือเท้าเย็น ชาตามมือเท้าแขนขา เฉื่อยชาเชื่องช้า ตาแฉะ ขี้ตาเยอะ หนังตาบวม ท้องอืด ปัสสาวะใสปริมาณมาก อุจจาระเหลวสีอ่อน ถ่ายกระปิดกระปอย เป็นต้น

         ในปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ของไทยมักมีอาการภาวะขาดสมดุลร่างกาย เนื่องจากมีสภาวะที่เร่งรีบ กดดัน บีบคั้น เคร่งเครียด พักผ่อนน้อย ไม่ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารจำพวกแป้ง เนื้อสัตว์ ไขมัน น้ำตาล เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเกินไป แต่รับประทานอาหารจำพวกผักและผลไม้น้อยเกินไป จึงมักเกิดภาวะขาดดุล

          ผักและผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็นสามารถลดอาการที่เกิดจากภาวะขาดสมดุลร่างกายแบบ ร้อนเกิน เช่น ย่านาง ใบบัวบก ผักหวาน ผักบุ้ง ตำลึง กะหล่ำดอก ผักกาดขาว ผักกาดหอม ฟัก แฟง แตงกวา บวบ หัวไชเท้า มะเขือเทศ มะนาว แตงโม แตงไทย แคนตาลูป มังคุด สับปะรด ส้มโอ กระท้อน แก้วมังกร ชมพู่ มะม่วงดิบ เป็นต้น 

          ส่วนผักและผลไม้ที่มีฤทธิ์ร้อนที่สามารถลดอาการที่เกิดจากภาวะขาดสมดุลแบบเย็น เกินคือ พริก ขิง ข่า ตะไคร้ ต้นหอม ผักชี พริกไทย กระชาย กระเพราะ โหรพา ยี่หร่า ฟักทอง กุยช่าย คะน้า กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ถั่วพู ผักโขม ชะอม แครอท ฝรั่ง ขนุน ทุเรียน ลำไย น้อยหน่า สละ ส้มเขียวหวาน เสวารส มะเฟือง มะขามป้อม มะม่วงสุก เป็นต้น

          ดังนั้นควรตรวจสอบสภาวะร่างกายของท่านว่าขาดสมดุลแบบร้อนเกินหรือเย็นเกิน จากอาการที่กล่าวมาข้างต้น จากนั้นจึงเลือกรับประทานผักและผลไม้ที่เหมาะสมเพื่อปรับสมดุลร้อน-เย็นนั้น เพื่อรักษาสภาวะร่างกายให้สมดุล ร่างกายจะแข็งแรง สดชื่น มีกำลังและลดการเกิดโรคได้






         ที่มา : มนฑิณี กมลธรรม ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  เว็บไซต์แนวหน้า

        ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น